วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความรุนแรงในผู้สูงอายุ

ความรุนแรงในผู้สูงอายุ

คนชราถูกละเลยจากบุตรหลาน
เกิดอะไรขึ้นเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้สูงอายุในประเทศไทย ดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าประเทศมีความเจริญก้าวหน้า ทำให้ประชาชนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ร่วมกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จากข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2552 จำนวนประชากรสูงอายุไทยอยู่ที่ 7.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากรไทย ที่ปัจจุบันมีประชากรจำนวน 63.4 ล้านคน จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาหนึ่งที่ไม่ควรถูกมองข้าม คือ ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรง ทั้งจากบุคคลใกล้ชิด และจากสังคม
รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ประเทศไทยจากภาพเดิมที่เคยมองว่าเป็นสังคมแห่งการเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือพึ่งพากันได้ กลับกลายเป็นสังคมแห่งความขัดแย้ง เกิดความรุนแรงทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม จนถึงระดับชาติ ภาพข่าวที่ปรากฏตามสื่อแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
จากการศึกษาโดยการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงต่อผู้สูงอายุไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา ร่วมกับการศึกษาสถานการณ์จริงในพื้นที่ทั้ง 4 ภาครวมทั้งเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าสถานการณ์ความกระทำรุนแรงต่อผู้สูงอายุไทย มีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ข้อมูลจากการวิจัยให้ตัวเลขที่น่าตกใจที่แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากให้ข้อมูลว่า เคยถูกกระทำรุนแรงทางจิตใจจากบุตรหลาน หรือบุคคลในครอบครัว โดยคำพูด การไม่ให้เกียรติ หรือพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกต่อผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุเสียใจ หมดกำลังใจ
ปัญหารองลงมา การถูกละเลย ทอดทิ้ง ทั้งนี้ ข้อมูลจากผู้ที่ปฏิบัติงานรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้สูงอายุ พบว่าผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง ส่วนใหญ่เป็นกรณีที่ได้รับแจ้งจากเพื่อนบ้าน/ผู้พบเห็น จากตำรวจ หรือผู้สูงอายุมาขอความช่วยเหลือเอง หรือเป็นผู้สูงอายุที่ยากไร้ปลูกเพิงพักอยู่ตามใต้ต้นไม้ และเก็บของเก่าขายและสถานภาพยากจนลำบาก ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่ คือ ครอบครัวยากจน ลูกไม่สามารถดูแลได้
ปัญหาความรุนแรงที่ตามมาติดๆ ได้แก่ การกระทำรุนแรงโดยการเอาเปรียบทรัพย์สินเกิดจากการที่พ่อแม่ผู้สูงอายุได้แบ่งและมอบทรัพย์สินแก่ลูกหมดเรียบร้อยแล้ว และลูกไม่พึงประสงค์ให้อยู่ในบ้าน ผู้สูงอายุจึงต้องมาอยู่ ณ สถานสงเคราะห์คนชรา หรือพบกรณีที่ลูกๆ ให้บิดามารดาผู้สูงอายุไปขอทานมาเลี้ยงลูกหลาน
ส่วนผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรงทางด้านร่างกาย ได้แก่ การทุบตี ชกต่อย การทำร้ายร่างกายผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากลูกเมาสุรา ติดสารเสพติด ผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ เกิดจากการที่ลูกป่วยเป็นโรคจิต ผู้สูงอายุไทยที่ถูกกระทำรุนแรงส่วนใหญ่จะไม่บอกหรือเปิดเผยข้อมูล ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในระยะแรกๆ เพราะผู้สูงอายุจะรู้สึกละอายว่าตนถูกกระทำจากลูกของตนเอง อาการระยะแรกๆ ที่พบเห็น คือ ผู้สูงอายุมีอาการซึมเศร้า หรือพบมีร่องรอย คือ มีแผล ฟกช้ำ ดำเขียว อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้สูงอายุถูกทำร้ายร่างกาย หรือล่วงละเมิดทางเพศยังปรากฏให้เห็นจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับความรุนแรงในกลุ่มอื่น
ตัวอย่างความจริงที่สังคมไทยคาดไม่ถึงจึงมีให้เห็นในสังคมไทย กรณีตัวอย่างแรก "แม่เลี้ยงลูกสิบคนได้ แต่ลูกสิบคนเลี้ยงแม่คนเดียวไม่ได้" คือกรณีตัวอย่างที่ถูกหยิบยกเพื่อสะท้อนปัญหาความรุนแรงที่เกิดกับผู้สูงอายุในสังคมไทย
"อาม่ากิมเองถูกนำมาทิ้งไว้ที่หน้าสถานสงเคราะห์คนชรา เมื่อพักอาศัยอยู่ได้ระยะหนึ่ง อาม่าคิดถึงบ้าน และต้องการให้นักสังคมสงเคราะห์พากลับบ้าน ทางเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์คนชรา จึงได้นำรถไปส่งอาม่าที่บ้าน เมื่อไปถึงบ้านเจ้าหน้าที่ติดต่อลูกเพื่อรับอาม่ากลับเข้าบ้านพักตามเดิม แต่ถูกปฏิเสธจากลูกว่าตนไม่มีแม่ชื่อนี้ ซึ่งในขณะนั้น อาม่านั่งรออยู่ในรถ เพื่อรอการตอบรับจากลูก"
เจ้าหน้าที่จึงกลับขึ้นมาที่รถและบอกกับอาม่า ว่า ลูกยังไม่สะดวก ขอให้กลับไปพักที่สถานสงเคราะห์คนชราอีกสักระยะหนึ่งก่อน หลังจากนั้น อาม่าได้เล่าสาเหตุของปัญหาให้นักสังคมสงเคราะห์ฟังว่าก่อนที่จะไปพักอาศัยที่สถานสงเคราะห์คนชรา ตนได้ทะเลาะกับลูกสะใภ้ เมื่อจะกลับไปอยู่บ้านลูกชายก็ถูกปฏิเสธ ทั้งๆ ที่บ้านหลังนี้เป็นบ้านของอาม่าเอง
นักสังคมสงเคราะห์สถานสงเคราะห์คนชราหลายแห่งให้ข้อสังเกตว่า ผู้สูงอายุที่มาพักที่สถานสงเคราะห์คนชราส่วนหนึ่งเป็นผู้ยากไร้ เพราะได้โอนทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้กับลูกเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ลูกขาดความรู้สึกเกรงใจ หรือเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ
กรณีที่ 2 "แม่อย่ามายุ่งกับหนู" ป้าสมศรีมาสมัครขอพักอาศัยอยู่ที่สถานสงเคราะห์คนชรา โดยให้สาเหตุว่า ลูกสาวไม่ให้ความสนใจดูแล แสดงท่าทางเฉยเมย มีสีหน้าไม่ยินดียินร้าย จะไปไหนมาไหน ไม่เคยบอกกล่าวกับตน หรือทักทายตนซึ่งเป็นแม่ที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ป้าสมศรีจึงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ถึงแม้จะพยายามปรับตัวทนสักระยะหนึ่ง แต่ในที่สุด ก็ทนไม่ไหวจึงขอมาพักอาศัยที่สถานสงเคราะห์คนชรา
กรณีเช่นนี้เมื่อผู้สูงอายุมาพักสักระยะหนึ่ง ก็สามารถกลับไปอยู่กับลูกหลานได้ เมื่อนักสังคมสงเคราะห์ได้เป็นตัวกลางประสานความเข้าใจ ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ปัญหาเกิดจากสาเหตุความไม่เข้าใจกันของผู้สูงอายุกับลูก เนื่องจากผู้สูงอายุอยู่บ้านจะมีเวลาว่าง ก็จะตั้งหน้ารอลูกกลับจากที่ทำงาน เมื่อลูกกลับมาก็ไม่ทักทาย อาจเกิดจากสาเหตุความเครียดจากงาน ภาวะเศรษฐกิจ หรืออื่นๆ ซึ่งหากผู้สูงอายุและลูกหลานไม่ได้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง ผู้สูงอายุก็อาจจะรู้สึกว่าตนเองได้รับการกระทำรุนแรงทางจิตใจ
ตัวอย่างทั้ง 2 กรณีนี้เป็นปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่งตลอดจนสังคมไทยในอนาคตจะเป็นสังคมผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นที่สังคมควรมีความตระหนักในเรื่องความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ พร้อมกับการเตรียมความพร้อมในการเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น