วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความรุนแรงในผู้สูงอายุ

ความรุนแรงในผู้สูงอายุ

คนชราถูกละเลยจากบุตรหลาน
เกิดอะไรขึ้นเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้สูงอายุในประเทศไทย ดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าประเทศมีความเจริญก้าวหน้า ทำให้ประชาชนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ร่วมกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จากข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2552 จำนวนประชากรสูงอายุไทยอยู่ที่ 7.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากรไทย ที่ปัจจุบันมีประชากรจำนวน 63.4 ล้านคน จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาหนึ่งที่ไม่ควรถูกมองข้าม คือ ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เสี่ยงต่อการถูกกระทำรุนแรง ทั้งจากบุคคลใกล้ชิด และจากสังคม
รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ประเทศไทยจากภาพเดิมที่เคยมองว่าเป็นสังคมแห่งการเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือพึ่งพากันได้ กลับกลายเป็นสังคมแห่งความขัดแย้ง เกิดความรุนแรงทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม จนถึงระดับชาติ ภาพข่าวที่ปรากฏตามสื่อแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
จากการศึกษาโดยการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงต่อผู้สูงอายุไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา ร่วมกับการศึกษาสถานการณ์จริงในพื้นที่ทั้ง 4 ภาครวมทั้งเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่าสถานการณ์ความกระทำรุนแรงต่อผู้สูงอายุไทย มีหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน ข้อมูลจากการวิจัยให้ตัวเลขที่น่าตกใจที่แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากให้ข้อมูลว่า เคยถูกกระทำรุนแรงทางจิตใจจากบุตรหลาน หรือบุคคลในครอบครัว โดยคำพูด การไม่ให้เกียรติ หรือพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกต่อผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุเสียใจ หมดกำลังใจ
ปัญหารองลงมา การถูกละเลย ทอดทิ้ง ทั้งนี้ ข้อมูลจากผู้ที่ปฏิบัติงานรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้สูงอายุ พบว่าผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง ส่วนใหญ่เป็นกรณีที่ได้รับแจ้งจากเพื่อนบ้าน/ผู้พบเห็น จากตำรวจ หรือผู้สูงอายุมาขอความช่วยเหลือเอง หรือเป็นผู้สูงอายุที่ยากไร้ปลูกเพิงพักอยู่ตามใต้ต้นไม้ และเก็บของเก่าขายและสถานภาพยากจนลำบาก ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่ คือ ครอบครัวยากจน ลูกไม่สามารถดูแลได้
ปัญหาความรุนแรงที่ตามมาติดๆ ได้แก่ การกระทำรุนแรงโดยการเอาเปรียบทรัพย์สินเกิดจากการที่พ่อแม่ผู้สูงอายุได้แบ่งและมอบทรัพย์สินแก่ลูกหมดเรียบร้อยแล้ว และลูกไม่พึงประสงค์ให้อยู่ในบ้าน ผู้สูงอายุจึงต้องมาอยู่ ณ สถานสงเคราะห์คนชรา หรือพบกรณีที่ลูกๆ ให้บิดามารดาผู้สูงอายุไปขอทานมาเลี้ยงลูกหลาน
ส่วนผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรงทางด้านร่างกาย ได้แก่ การทุบตี ชกต่อย การทำร้ายร่างกายผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากลูกเมาสุรา ติดสารเสพติด ผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ เกิดจากการที่ลูกป่วยเป็นโรคจิต ผู้สูงอายุไทยที่ถูกกระทำรุนแรงส่วนใหญ่จะไม่บอกหรือเปิดเผยข้อมูล ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในระยะแรกๆ เพราะผู้สูงอายุจะรู้สึกละอายว่าตนถูกกระทำจากลูกของตนเอง อาการระยะแรกๆ ที่พบเห็น คือ ผู้สูงอายุมีอาการซึมเศร้า หรือพบมีร่องรอย คือ มีแผล ฟกช้ำ ดำเขียว อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้สูงอายุถูกทำร้ายร่างกาย หรือล่วงละเมิดทางเพศยังปรากฏให้เห็นจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับความรุนแรงในกลุ่มอื่น
ตัวอย่างความจริงที่สังคมไทยคาดไม่ถึงจึงมีให้เห็นในสังคมไทย กรณีตัวอย่างแรก "แม่เลี้ยงลูกสิบคนได้ แต่ลูกสิบคนเลี้ยงแม่คนเดียวไม่ได้" คือกรณีตัวอย่างที่ถูกหยิบยกเพื่อสะท้อนปัญหาความรุนแรงที่เกิดกับผู้สูงอายุในสังคมไทย
"อาม่ากิมเองถูกนำมาทิ้งไว้ที่หน้าสถานสงเคราะห์คนชรา เมื่อพักอาศัยอยู่ได้ระยะหนึ่ง อาม่าคิดถึงบ้าน และต้องการให้นักสังคมสงเคราะห์พากลับบ้าน ทางเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์คนชรา จึงได้นำรถไปส่งอาม่าที่บ้าน เมื่อไปถึงบ้านเจ้าหน้าที่ติดต่อลูกเพื่อรับอาม่ากลับเข้าบ้านพักตามเดิม แต่ถูกปฏิเสธจากลูกว่าตนไม่มีแม่ชื่อนี้ ซึ่งในขณะนั้น อาม่านั่งรออยู่ในรถ เพื่อรอการตอบรับจากลูก"
เจ้าหน้าที่จึงกลับขึ้นมาที่รถและบอกกับอาม่า ว่า ลูกยังไม่สะดวก ขอให้กลับไปพักที่สถานสงเคราะห์คนชราอีกสักระยะหนึ่งก่อน หลังจากนั้น อาม่าได้เล่าสาเหตุของปัญหาให้นักสังคมสงเคราะห์ฟังว่าก่อนที่จะไปพักอาศัยที่สถานสงเคราะห์คนชรา ตนได้ทะเลาะกับลูกสะใภ้ เมื่อจะกลับไปอยู่บ้านลูกชายก็ถูกปฏิเสธ ทั้งๆ ที่บ้านหลังนี้เป็นบ้านของอาม่าเอง
นักสังคมสงเคราะห์สถานสงเคราะห์คนชราหลายแห่งให้ข้อสังเกตว่า ผู้สูงอายุที่มาพักที่สถานสงเคราะห์คนชราส่วนหนึ่งเป็นผู้ยากไร้ เพราะได้โอนทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้กับลูกเรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ลูกขาดความรู้สึกเกรงใจ หรือเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ
กรณีที่ 2 "แม่อย่ามายุ่งกับหนู" ป้าสมศรีมาสมัครขอพักอาศัยอยู่ที่สถานสงเคราะห์คนชรา โดยให้สาเหตุว่า ลูกสาวไม่ให้ความสนใจดูแล แสดงท่าทางเฉยเมย มีสีหน้าไม่ยินดียินร้าย จะไปไหนมาไหน ไม่เคยบอกกล่าวกับตน หรือทักทายตนซึ่งเป็นแม่ที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ป้าสมศรีจึงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ถึงแม้จะพยายามปรับตัวทนสักระยะหนึ่ง แต่ในที่สุด ก็ทนไม่ไหวจึงขอมาพักอาศัยที่สถานสงเคราะห์คนชรา
กรณีเช่นนี้เมื่อผู้สูงอายุมาพักสักระยะหนึ่ง ก็สามารถกลับไปอยู่กับลูกหลานได้ เมื่อนักสังคมสงเคราะห์ได้เป็นตัวกลางประสานความเข้าใจ ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ปัญหาเกิดจากสาเหตุความไม่เข้าใจกันของผู้สูงอายุกับลูก เนื่องจากผู้สูงอายุอยู่บ้านจะมีเวลาว่าง ก็จะตั้งหน้ารอลูกกลับจากที่ทำงาน เมื่อลูกกลับมาก็ไม่ทักทาย อาจเกิดจากสาเหตุความเครียดจากงาน ภาวะเศรษฐกิจ หรืออื่นๆ ซึ่งหากผู้สูงอายุและลูกหลานไม่ได้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง ผู้สูงอายุก็อาจจะรู้สึกว่าตนเองได้รับการกระทำรุนแรงทางจิตใจ
ตัวอย่างทั้ง 2 กรณีนี้เป็นปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่งตลอดจนสังคมไทยในอนาคตจะเป็นสังคมผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นที่สังคมควรมีความตระหนักในเรื่องความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ พร้อมกับการเตรียมความพร้อมในการเผชิญกับปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

เด็กกับความรุนแรงในสังคมไทย

เด็กกับความรุนแรงในสังคมไทย

เด็กกับความรุนแรงในสังคมไทยสังคมไทยจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาการใช้ความรุนแรงของเด็กในสังคมไทยให้แจ่มชัดมากขึ้น เพราะการใช้ความรุนแรงในการดำเนินชีวิตได้คืบคลานเข้ามาอยู่กับเด็กไทยทุกขณะแล้ว กระแสการต่อต้านเกมที่ใช้ความรุนแรงและรัฐได้ปราบไม่ให้ร้านเกมมีเกมประเภทความรุนแรงบริการเด็ก อันเนื่องมาจากกรณีเด็กนักเรียนอายุ 16 ปล้นฆ่าแท็กซี่โดยรับว่าได้รับอิทธิพลจากเกมที่มีความรุนแรงเป็นสาระหลัก
แม้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรจะทำ แต่สังคมไทยไม่ควรจะนิ่งนอนใจหรือพึงพอใจว่าได้ขจัดต้นตอการใช้ความรุนแรงไปได้แล้วเพราะในความเป็นจริงนั้น การใช้ความรุนแรงของเด็กมีเงื่อนไขอื่นมากำหนดอีกมากมายตัวอย่างการก่ออาชญากรรมของเด็กวัยรุ่นที่กระทำต่อแท็กซี่และคนทั่วไปที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการเล่นเกมมีอีกมากมาย เช่น เด็กจี้แท็กซี่เพราะต้องการเอาเงินไปเที่ยวกลางคืนการตี ฆ่า ข่มขืน ของเด็กแซ็บ เด็กแว้น (เด็กกวนเมือง) ที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหงของสังคมไทยหรือ เด็กผู้หญิงตบตีกันแล้วถ่านคลิปเอาไว้"โชว์พาว" ข่มขู่เด็กอื่นๆ ตัวอย่างมากมายเช่นนี้ชี้ให้ตั้งคำถามได้ทันทีว่า เกมเป็นต้นตอความรุนแรงจริงหรือ หรือว่า เกมจะเป็นเพียงเงื่อนไขการกระตุ้นสำนึกของการใช้ความรุนแรงในการดำเนินชีวิตที่ฝังในเด็กวัยรุ่นไปเรียบร้อยแล้ว
ทำให้ดิฉันนึกถึงข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ว่าวัยรุ่นใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา ทำให้เรามองไปว่าการตัดสินใจของวัยรุ่นไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผลใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง และทุกคนที่มองปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่นไทยเกิดจากการที่เด็กเล่นเกมหรือการรับวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งที่จริงแล้วมองว่ามันเป็นการโทษกันไปโทษกันมา เพื่อปัดปัญหาให้พ้นตัว เราเคยคิดกันไหมว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้นมันมาจากการที่เด็กไทยของเราขาดวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย ด้วยสภาวะที่เปลี่ยนไปทำให้เราลืมวัฒนธรรมที่ดีงามไป มองกลับมาถ้าเราปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้เขาก็จะสามารถลดปัญหาความรุนแรงของวัยรุ่นลงได้
วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการแสดงออกความสามารถ ต้องการการยอมรับ เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ต้องคิดหากิจกรรมที่จะให้เขาได้ทำในสิ่งที่ต้องการในทางที่ถูกต้อง การที่จะทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมความรุนแรงลงได้ต้องใช้เวลานานและต้องอดทนที่จะทำค่อยๆ ปลูกฝังวัฒนธรรมที่ดีงามของเราให้เขาจนเขาสามารถซึมซับได้ เขาก็จะเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เขาจะทำมันถูกต้อง การกระทบกระทั่งกันมันต้องมีบ้างแต่เราก็ต้องรู้จักที่จะให้อภัยกัน กล่าวคำว่าขอโทษเมื่อเราผิด ยอมถอยออกมาคนละก้าวเพื่อที่จะไม่ต้องกระทบกระทั่งกัน การใช้ความรุนแรงไม่ถือว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่แต่การชนะใจตนเองด้วยการระงับอารมณ์เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด
เด็กวัยรุ่นมักมีความรุนแรงมากจนไม่คาดถึง เท่าที่พบเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มีมากมาย สาเหตุพฤติกรรมรุนแรงของเด็กวัยรุ่นที่แสดงออกจากการวิเคราะห์ มักพบว่า นอกจากเด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่แตกแยกทำให้เด็กมีปัญหา เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเวลาอบรมสั่งสอน และดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กมักขาดระเบียบวินัย และขาดความอดทนต่อการรอคอยแล้วที่น่าสนใจไม่น้อยยังพบว่า เด็กอีกหลายคนที่พ่อแม่ดูแลดีเกินไป ประคบประหงมจนลูกทำอะไรไม่เป็น ไม่เคยต่อสู้อุปสรรคปัญหาใดๆ หรือขาดความเข้มแข็งเปราะบางจนไม่สามารถทนต่อความผิดหวังได้ ในวัยเด็กเล็กการตามใจลูกทำให้เด็กขาดระเบียบวินัย จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กดื้อ เอาแต่ใจตนเองหากไม่ได้ดั่งใจก็จะก้าวร้าวกับพ่อแม่ต่อมาอาการก้าวร้าวจะเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นความรุนแรงตามข่าวที่มักพบบ่อยๆ ในวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่เป็นตัวของตัวเองมีความสนใจเข้ากลุ่มเพื่อนและเชื่อฟังเพื่อนมากกว่าผู้ใหญ่ผู้ให้ดังนั้นหากถูกเพื่อนปฏิเสธ หรือมีปัญหาทางการเรียนด้วยแล้วมักถูกเพื่อนชักจูงไปในทางที่ไม่เหมาะสม ยิ่งมีตัวกระตุ้นด้วยการลองดื่มเหล้า หรือสารเสพติดด้วยแล้วยิ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมได้ในที่สุด
การลดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงได้นั้นพ่อแม่สามารถฝึกเด็กได้ตั้งแต่ยังเล็ก โดยฝึกให้เขาเคยได้รับความผิดหวังบ้าง เช่น อาจสร้างมุมมองแนวคิดเมื่อเผชิญกับความผิดหวังฝึกให้เขามองโลกในแง่ดี มองถึงอนาคตรวมทั้งข้างหน้ายังมีโอกาสที่ผ่านเข้ามาอีกเรื่อยๆ"ไม่ใช่หมดแล้วหมดเลย แต่โอกาสข้างหน้ายังมีหรือ เสียแล้วเสียไปหาใหม่ดีกว่า" จะทำให้เขามองโลกได้กว้างขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดความโกรธ ความเคียดแค้นที่มีอยู่ภายในใจด้วยการให้เขารู้จักเรียนรู้ในการให้อภัยแก่ผู้อื่นและตนเองด้วย ทุกคนมีโอกาสผิดพลาดได้รวมทั้งหัดให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ผลการกระทำโดยให้มองแบบลูกโซ่ เช่น ถ้าเขาทำแบบนี้จะเกิดผลอย่างไรต่อใครบ้างนอกจากตนเอง รวมทั้งทำแล้วถ้าผลไม่เป็นตามที่คิดที่หวังจะยอมรับได้หรือไม่ เพื่อให้เด็กสามารถจัดการกับปัญหา และตัดสินใจยอมรับผลที่เกิดขึ้นด้วยตนเองซึ่งสำคัญมากเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
อย่างไรก็ดีหากพ่อแม่ที่คิดว่าลูกโตแล้วฝึกไม่ทันเพราะผ่านการฝึกฝนในวัยเด็กเล็กไปแล้วก็ตาม แต่แต่เรื่องนี้ไม่มีคำว่าสายเกินไป อย่าท้อใจที่จะเริ่มต้นฝึกเด็กด้วยความอดทน เพื่อให้เขาปรับตัวและมีชีวิตที่เป็นสุขกับสังคมรอบข้างได้เป็นอย่างดีในต่อไป
วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการแสดงออกความสามารถ ต้องการการยอมรับ เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ต้องคิดหากิจกรรมที่จะให้เขาได้ทำในสิ่งที่ต้องการในทางที่ถูกต้อง การที่จะทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมความรุนแรงลงได้ต้องใช้เวลานานและต้องอดทนที่จะทำค่อยๆ ปลูกฝังวัฒนธรรมที่ดีงามของเราให้เขาจนเขาสามารถซึมซับได้ เขาก็จะเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เขาจะทำมันถูกต้อง
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

ความหมายของความรุนแรง

ความหมายของความรุนแรง


ความหมายของความรุนแรง


ความรุนแรง ” คือ พฤติกรรมการใช้อำนาจในการควบคุมหรือบังคับขู่เข็ญผู้อื่นให้เกิดความกลัว เช่น การทำร้ายร่างกายการข่มขืน และการทารุณกรรมทางด้านจิตใจเป็นการแสดงออกทางอารมณ์ที่ผิดปกติ และสาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาทางเพศ ปัญหาการกดขี่แรงงานเด็ก
ความรุนแรงต่อสตรี หมายถึง การกระทำใด ๆ ก็ตามที่เป็นผล หรืออาจเป็นผลให้เกิดการทำร้ายร่างกาย ทางจิตใจ และทางเพศ เป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญกีดกันจำกัดเสรีภาพ ทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว
ความรุนแรงต่อเด็ก หมายถึงการที่เด็กได้รับการปฏิบัติจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกครอบครัว จนเป็นเหตุให้เด็กได้รับอันตราย บาดเจ็บ กระทบกระเทือนทางด้านร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ตลอดจนการถูกละเลย ไม่สนองตอบความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร การดูแลสุขภาพ และการอบรมเลี้ยงดู
ความรุนแรง เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำ และคนที่อยู่รอบข้าง ดังที่มีตัวอย่างให้พบเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวัน เช่นกรณีพ่อทุบตีแม่ เด็กก็อาจจะถูกทุบตีไปด้วย เด็กที่ถูกทุบตี ทำร้าย หรือได้เห็นความรุนแรงเสมอ ๆ จะฝังใจเรื่องความรุนแรง เด็กจะเข้าใจผิดว่า ปัญหาแก้ไขได้ด้วยความรุนแรง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ปัญหาทุกปัญหาควรแก้ไขด้วยเหตุผล ด้วยการพูดจาทำความเข้าใจ นอกจากนี้ การอยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีความรุนแรง เด็กจะ
ทำไมผู้ชายถึงทำร้ายผู้หญิง?
พฤติกรรมของความก้าวร้าวและรุนแรงมาจากปูมหลังหรือภูมิหลังของครอบครัว จากบุคลิกภาพส่วนตัว ผู้ที่เติบโตมาจากครอบครัวที่ไม่ปกติ ในการจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ก็จะใช้ความรุนแรงในการจัดการกับปัญหาในชีวิตตัวเองเช่นเดียวกันผนวกกับความกดดันจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ยิ่งส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรงมากขึ้นผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงมักจะมีความเชื่อว่า ความรุนแรง” เป็นวิธีเดียวที่จะสามารถควบคุมผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลที่ดีเยี่ยมและมักจะไม่รู้สึกเจ็บปวดกับผลลัพธ์หรือการกระทำของตัวเอง
แนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรง
1.มหาวิทยาลัยต่างๆควรที่จะจัดตั้งสถาบันสันติศึกษา เพื่อศึกษาปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษาที่ส่งผลกระทบต่อสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังไม่มีสถาบันที่วิจัยในเรื่องดังกล่าว 
2.
การสื่อสารที่ดี สื่อต้องทำหน้าที่ตระหนักรู้ให้กับประชาชนในเรื่องของความดี คุณธรรมจริยธรรม มากกว่าส่งเสริมการบริโภคนิยม 
3.
การเฝ้าระวังร่วมมือกันทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลในเรื่องของความรุนแรง 
4.
ส่งเสริมวิธีการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ในโรงเรียน หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานอื่นๆ
5.ทิศทางการพัฒนาประเทศจะต้องลดกระแสการบริโภควัตถุนิยม หันกลับมาสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง 
6.
ต้องกระจายอำนาจไปสู่ชุมชน ท้องถิ่นให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง 
7.
องค์กรในประเทศมีการบริหารแบบแนวดิ่ง ไม่ได้มาจากความคิดเห็นระดับล่าง จึงทำให้ประเทศไทยเกิดความรุนแรงความขัดแย้ง ควรที่จะปรับเปลี่ยนการบริหาร และ
8.รัฐบาล ภาคสังคม ระบบการศึกษา ต้องส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนไทยปฏิวัติจิตสำนึกของตนเองให้หันมาเห็นใจในความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ตลอดจนหันมาพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแทนการใช้ความรุนแรง

ปัญหาความรุนแรงของเยาวชนในสังคมไทย

ปัญหาความรุนแรงของเยาวชนในสังคมไทย

ปัญหาความรุนแรงของเยาวชนในสังคมไทย


เยาวชนไทยกับความรุนแรง

                  ในสังคมไทยปัจจุบัน  มีปัญหาต่างๆมากมายที่ทำให้สังคมไม่สงบสุข  อาทิเช่น  ปัญหาด้านการเมืองด้านเศรษฐกิจ  ด้านความมั่นคง  ด้านยาเสพติด  ด้านอาชญากรรม  รวมทั้งด้านความรุนแรงในเยาวชน  ปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้รับความสนใจจากบุคคลทุกๆฝ่าย  และต่างก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น  บางปัญหาก็เป็นปัญหาที่หนักจนทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น  บางปัญหาก็พอจะหาทางแก้ไขได้บ้าง
                  สำหรับปัญหาเรื่องความรุนแรงในสังคมไทยนั้น  ก็ได้รับความสนใจเป็นพิเศษเช่นเดียวกันกับปัญหาอื่นๆ  ทั้งนี้เป็นเพราะว่า  ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นมักจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้คน  ทรัพย์สิน  ครอบครัว  เป็นต้น  ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เกิดความรุนแรงขึ้น  ก็จะตามมาด้วยความสูญเสียในด้านต่างๆ  ไม่มากก็น้อย  นับได้ว่าความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับการแก้ไข  ให้หมดสิ้นไป  หรือให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ 
ความหมายของความรุนแรง
         โดยทั่วไป  เมื่อกล่าวถึงคำว่าความรุนแรง  อาจทำให้มีการอธิบายได้หลายๆรูปแบบ  แต่ที่อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายนั้น  มักจะให้ความหมายว่า
          ความรุนแรง  (Violence)  หมายถึงพฤติกรรมหรือการกระทำของบุคลใดบุคคลหนึ่ง  โดยใช้กำลัง  หรือใช้อำนาจในการควบคุม  บังคับ  ขู่เข็ญ  การรุกรานสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล การทารุณกรรมทางจิตใจตลอดจนการกระทำที่ทำให้บุคคลอื่นเกิดความรู้สึกหวาดกลัว  และอาจทำให้ได้รับการบาดเจ็บ  ทรัพย์สินเสียหาย จากความหมายดังกล่าวแล้ว  ความรุนแรงจึงครอบคลุมเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้
                                
                                ประการที่  1  เป็นการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งต่อบุคคลหรือกลุ่มคนอื่นๆ 
                                ประการที่  2  เป็นการใช้อำนาจหรือใช้กำลังที่กระทำต่อบุคคลอื่น
                                ประการที่  3  พฤติกรรมอาจเป็นอาจเป็นการข่มขู่  บังคับ  กักขัง  รุกรานเสรีภาพ     
                                ประการที่  4  ผลที่เกิดจากความรุนแรง  ทำให้ผู้ถูกกระทำมีความหวาดกลัวได้                                                รับอันตราย   หรือ ทรัพย์สินเสียหาย                              
                                ประการที่  5   ในบางกรณีความรุนแรงมักจะก่อให้เกิดการทารุณกรรมทางจิตใจ 
                                ประการที่  6  ความรุนแรงมักจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาทางอารมณ์หรือการมีอารมณ์ที่ผิดปกติของบุคคล   

 ประเภทของความรุนแรงในสังคมไทย
          โดยทั่วไป  มักจะปรากฏความรุนแรงหลายๆประเภทในสังคมไทย  แต่ละประเภทล้วนแล้วแต่มีความสำคัญที่ควรจะได้รับการเอาใจใส่เพื่อแก้ปัญหา  ถึงแม้ว่าความรุนแรงประเภทต่างๆนั้นอาจจะเกิดมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันไปก็ตาม  ก็ควรจะศึกษารายละเอียดให้เพียงพอที่จะนำไปแก้ปัญหาความรุนแรงแต่ละประเภทต่อไป
                ประเภทที่  1  ความรุนแรงในครอบครัว
                ประเภทที่  2  ความรุนแรงต่อสตรี
                ประเภทที่  3  ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน
                ประเภทที่  4  ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ
                ประเภทที่  5  ความรุนแรงต่อผู้ใช้แรงงาน

รูปแบบของความรุนแรง
  1. ความรุนแรงทางด้านร่างกาย (Physical violence)  หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางด้านร่างกาย  โดยวิธีการต่างๆ   เช่น  การเฆี่ยนตี การเตะ การชกต่อย  หรือวิธีอื่นๆ  ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับบาดเจ็บทางด้านร่างกาย เช่น ศีรษะแตก  กระดูกหัก เลือดออกภายในฟกช้ำ แผลไฟไหม้ ได้รับสารพิษ
  2. ความรุนแรงทางเพศ (Sexual violence) หมายถึง การกระทำที่บุคคลมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ในการตอบสนองความต้องการทางเพศของตนเอง หรือใช้ความพยายาม  ใช้กำลัง  การบังคับขู่เข็ญ  การหลอกล่อ  การชักชวน  การให้สิ่งตอบแทน  ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้ผู้ถูกกระทำยินยอม
  3. ความรุนแรงทางจิตใจ (Psychological violence) หมายถึง พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการทำร้ายทางด้านจิตใจ  การควบคุมบังคับบุคคลอื่นอย่างไม่มีเหตุผล  ซึ่งการกระทำนั้นทำให้บุคคลที่ถูกกระทำได้รับความอับอาย มีความรู้สึกด้อยค่า  หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนเองลง
  4. ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือการละเลย/ทอดทิ้ง (Deprivation or neglect) หมายถึง  พฤติกรรมของบุคคลที่ไม่เอาใจใส่ดูแล และให้การคุ้มครองอย่างเหมาะสมและเพียงพอ  นอกจากนี้ยัง รวมถึงการทอดทิ้งทางกาย  ทำให้บุคคลได้รับความทุกข์ทั้งกายและใจ
สาเหตุของความรุนแรง
                     ประการที่  1 สาเหตุเกิดจากลักษณะส่วนตัวของผู้กระทำความรุนแรง  หมายถึง  บุคคลอาจมีพัฒนาการด้านบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม  โดยได้รับประสบการณ์ชีวิตในด้านต่างๆที่มีความรุนแรงตั้งแต่เยาว์วัยจนกระทั่งเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่  จึงก่อให้เกิดอุปนิสัยส่วนตัวที่ชอบความรุนแรง  นักจิตวิทยามีความเชื่อว่า  ลักษณะส่วนตัวของบุคคลนั้นอาจจะเกิดจากการเลียนแบบตัวแบบต่างๆ  (Models)  เช่น  ตัวแบบที่เกิดจากบิดามารดาที่ชอบใช้ความรุนแรง  ตัวแบบที่เกิดจากการดูรายการโทรทัศน์  จากการอ่านหนังสือ  เป็นต้น  นอกจากนี้การขาดการอบรมสั่งสอนเพื่อปลูกฝังเรื่องผิดชอบชั่วดี  การขาดความอบอุ่นในครอบครัว  และการเจ็บป่วยทางจิต  จะส่งผลให้เกิดความรุนแรง  
                       ประการที่  2  สาเหตุเกิดจากการมีทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อผิดๆ  ซึ่งในสังคมแต่ละ             สังคมมักจะมีความแตกต่างกันไป  ในสังคมไทยอาจมีสิ่งต่างๆเหล่านี้มากมาย  อาทิเช่น  ผู้มีอำนาจย่อมมีสิทธิ์เหนือคนที่ด้อยกว่า  เพศชายย่อมแข็งแรงกว่าเพศหญิง  ภรรยาเป็นสมบัติของสามี  อย่าถือคนเมา   คนใกล้ชิดจะไม่กล้าล่วงเกินทางเพศ  เป็นต้น  ซึ่งสาเหตุนี้มีความสำคัญต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง
                       ประการที่  3  สาเหตุเกิดจากสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดความรุนแรง เช่น    สื่อประเภทต่างๆ ที่นำเสนอข้อมูล  ข่าวสาร  ที่ก่อให้เกิดการยั่วยุ  หรือการเลียนแบบด้านความรุนแรง  นอกจากนี้อาจมีเหตุการณ์ทางสังคมที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงได้  เช่น  ฝูงชนที่ชุมนุมกันโดยมีเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง  เป็นต้น

การตอบสนองความรุนแรง
เมื่อเกิดความรุนแรง  บุคคลจะตอบสนองต่อความรุนแรงแตกต่างกันไป  เช่น 
1. การตำหนิตนเอง  (blame yourself)
2. รู้สึกหวาดกลัว  (feel afraid)
3. รู้สึกโกรธ (feel angry)
4. มีความสับสนทางอารมณ์ (a lot of confused emotions)
5. รู้สึกเหมือนจะบ้าคลั่ง  (feel like you are going crazy)
6. รู้สึกโดดเดี่ยว  (feel very alone)
7. ร้องไห้คร่ำครวญ  (cry a lot)
8. มีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร  (trouble eating)
9. มีปัญหาเรื่องความรุนแรงรบกวนภายในจิตใจ (have trouble getting the violence out of your mind)
10. มีปัญหาเรื่องการนอน  และการฝันร้าย (have trouble sleeping, have nightmares)

ที่มา   
รองศาสตราจารย์  ดร.คมเพชร   ฉัตรศุภกุล
รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต