วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ปัญหาความรุนแรงของเยาวชนในสังคมไทย

ปัญหาความรุนแรงของเยาวชนในสังคมไทย

ปัญหาความรุนแรงของเยาวชนในสังคมไทย


เยาวชนไทยกับความรุนแรง

                  ในสังคมไทยปัจจุบัน  มีปัญหาต่างๆมากมายที่ทำให้สังคมไม่สงบสุข  อาทิเช่น  ปัญหาด้านการเมืองด้านเศรษฐกิจ  ด้านความมั่นคง  ด้านยาเสพติด  ด้านอาชญากรรม  รวมทั้งด้านความรุนแรงในเยาวชน  ปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้รับความสนใจจากบุคคลทุกๆฝ่าย  และต่างก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น  บางปัญหาก็เป็นปัญหาที่หนักจนทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น  บางปัญหาก็พอจะหาทางแก้ไขได้บ้าง
                  สำหรับปัญหาเรื่องความรุนแรงในสังคมไทยนั้น  ก็ได้รับความสนใจเป็นพิเศษเช่นเดียวกันกับปัญหาอื่นๆ  ทั้งนี้เป็นเพราะว่า  ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นมักจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้คน  ทรัพย์สิน  ครอบครัว  เป็นต้น  ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เกิดความรุนแรงขึ้น  ก็จะตามมาด้วยความสูญเสียในด้านต่างๆ  ไม่มากก็น้อย  นับได้ว่าความรุนแรงจึงเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับการแก้ไข  ให้หมดสิ้นไป  หรือให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ 
ความหมายของความรุนแรง
         โดยทั่วไป  เมื่อกล่าวถึงคำว่าความรุนแรง  อาจทำให้มีการอธิบายได้หลายๆรูปแบบ  แต่ที่อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายนั้น  มักจะให้ความหมายว่า
          ความรุนแรง  (Violence)  หมายถึงพฤติกรรมหรือการกระทำของบุคลใดบุคคลหนึ่ง  โดยใช้กำลัง  หรือใช้อำนาจในการควบคุม  บังคับ  ขู่เข็ญ  การรุกรานสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล การทารุณกรรมทางจิตใจตลอดจนการกระทำที่ทำให้บุคคลอื่นเกิดความรู้สึกหวาดกลัว  และอาจทำให้ได้รับการบาดเจ็บ  ทรัพย์สินเสียหาย จากความหมายดังกล่าวแล้ว  ความรุนแรงจึงครอบคลุมเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้
                                
                                ประการที่  1  เป็นการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งต่อบุคคลหรือกลุ่มคนอื่นๆ 
                                ประการที่  2  เป็นการใช้อำนาจหรือใช้กำลังที่กระทำต่อบุคคลอื่น
                                ประการที่  3  พฤติกรรมอาจเป็นอาจเป็นการข่มขู่  บังคับ  กักขัง  รุกรานเสรีภาพ     
                                ประการที่  4  ผลที่เกิดจากความรุนแรง  ทำให้ผู้ถูกกระทำมีความหวาดกลัวได้                                                รับอันตราย   หรือ ทรัพย์สินเสียหาย                              
                                ประการที่  5   ในบางกรณีความรุนแรงมักจะก่อให้เกิดการทารุณกรรมทางจิตใจ 
                                ประการที่  6  ความรุนแรงมักจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาทางอารมณ์หรือการมีอารมณ์ที่ผิดปกติของบุคคล   

 ประเภทของความรุนแรงในสังคมไทย
          โดยทั่วไป  มักจะปรากฏความรุนแรงหลายๆประเภทในสังคมไทย  แต่ละประเภทล้วนแล้วแต่มีความสำคัญที่ควรจะได้รับการเอาใจใส่เพื่อแก้ปัญหา  ถึงแม้ว่าความรุนแรงประเภทต่างๆนั้นอาจจะเกิดมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันไปก็ตาม  ก็ควรจะศึกษารายละเอียดให้เพียงพอที่จะนำไปแก้ปัญหาความรุนแรงแต่ละประเภทต่อไป
                ประเภทที่  1  ความรุนแรงในครอบครัว
                ประเภทที่  2  ความรุนแรงต่อสตรี
                ประเภทที่  3  ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน
                ประเภทที่  4  ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ
                ประเภทที่  5  ความรุนแรงต่อผู้ใช้แรงงาน

รูปแบบของความรุนแรง
  1. ความรุนแรงทางด้านร่างกาย (Physical violence)  หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางด้านร่างกาย  โดยวิธีการต่างๆ   เช่น  การเฆี่ยนตี การเตะ การชกต่อย  หรือวิธีอื่นๆ  ที่ทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับบาดเจ็บทางด้านร่างกาย เช่น ศีรษะแตก  กระดูกหัก เลือดออกภายในฟกช้ำ แผลไฟไหม้ ได้รับสารพิษ
  2. ความรุนแรงทางเพศ (Sexual violence) หมายถึง การกระทำที่บุคคลมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ในการตอบสนองความต้องการทางเพศของตนเอง หรือใช้ความพยายาม  ใช้กำลัง  การบังคับขู่เข็ญ  การหลอกล่อ  การชักชวน  การให้สิ่งตอบแทน  ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้ผู้ถูกกระทำยินยอม
  3. ความรุนแรงทางจิตใจ (Psychological violence) หมายถึง พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการทำร้ายทางด้านจิตใจ  การควบคุมบังคับบุคคลอื่นอย่างไม่มีเหตุผล  ซึ่งการกระทำนั้นทำให้บุคคลที่ถูกกระทำได้รับความอับอาย มีความรู้สึกด้อยค่า  หรือลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตนเองลง
  4. ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือการละเลย/ทอดทิ้ง (Deprivation or neglect) หมายถึง  พฤติกรรมของบุคคลที่ไม่เอาใจใส่ดูแล และให้การคุ้มครองอย่างเหมาะสมและเพียงพอ  นอกจากนี้ยัง รวมถึงการทอดทิ้งทางกาย  ทำให้บุคคลได้รับความทุกข์ทั้งกายและใจ
สาเหตุของความรุนแรง
                     ประการที่  1 สาเหตุเกิดจากลักษณะส่วนตัวของผู้กระทำความรุนแรง  หมายถึง  บุคคลอาจมีพัฒนาการด้านบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม  โดยได้รับประสบการณ์ชีวิตในด้านต่างๆที่มีความรุนแรงตั้งแต่เยาว์วัยจนกระทั่งเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่  จึงก่อให้เกิดอุปนิสัยส่วนตัวที่ชอบความรุนแรง  นักจิตวิทยามีความเชื่อว่า  ลักษณะส่วนตัวของบุคคลนั้นอาจจะเกิดจากการเลียนแบบตัวแบบต่างๆ  (Models)  เช่น  ตัวแบบที่เกิดจากบิดามารดาที่ชอบใช้ความรุนแรง  ตัวแบบที่เกิดจากการดูรายการโทรทัศน์  จากการอ่านหนังสือ  เป็นต้น  นอกจากนี้การขาดการอบรมสั่งสอนเพื่อปลูกฝังเรื่องผิดชอบชั่วดี  การขาดความอบอุ่นในครอบครัว  และการเจ็บป่วยทางจิต  จะส่งผลให้เกิดความรุนแรง  
                       ประการที่  2  สาเหตุเกิดจากการมีทัศนคติ ค่านิยม และความเชื่อผิดๆ  ซึ่งในสังคมแต่ละ             สังคมมักจะมีความแตกต่างกันไป  ในสังคมไทยอาจมีสิ่งต่างๆเหล่านี้มากมาย  อาทิเช่น  ผู้มีอำนาจย่อมมีสิทธิ์เหนือคนที่ด้อยกว่า  เพศชายย่อมแข็งแรงกว่าเพศหญิง  ภรรยาเป็นสมบัติของสามี  อย่าถือคนเมา   คนใกล้ชิดจะไม่กล้าล่วงเกินทางเพศ  เป็นต้น  ซึ่งสาเหตุนี้มีความสำคัญต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง
                       ประการที่  3  สาเหตุเกิดจากสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดความรุนแรง เช่น    สื่อประเภทต่างๆ ที่นำเสนอข้อมูล  ข่าวสาร  ที่ก่อให้เกิดการยั่วยุ  หรือการเลียนแบบด้านความรุนแรง  นอกจากนี้อาจมีเหตุการณ์ทางสังคมที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงได้  เช่น  ฝูงชนที่ชุมนุมกันโดยมีเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง  เป็นต้น

การตอบสนองความรุนแรง
เมื่อเกิดความรุนแรง  บุคคลจะตอบสนองต่อความรุนแรงแตกต่างกันไป  เช่น 
1. การตำหนิตนเอง  (blame yourself)
2. รู้สึกหวาดกลัว  (feel afraid)
3. รู้สึกโกรธ (feel angry)
4. มีความสับสนทางอารมณ์ (a lot of confused emotions)
5. รู้สึกเหมือนจะบ้าคลั่ง  (feel like you are going crazy)
6. รู้สึกโดดเดี่ยว  (feel very alone)
7. ร้องไห้คร่ำครวญ  (cry a lot)
8. มีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร  (trouble eating)
9. มีปัญหาเรื่องความรุนแรงรบกวนภายในจิตใจ (have trouble getting the violence out of your mind)
10. มีปัญหาเรื่องการนอน  และการฝันร้าย (have trouble sleeping, have nightmares)

ที่มา   
รองศาสตราจารย์  ดร.คมเพชร   ฉัตรศุภกุล
รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น